รู้หรือไม่? ประเทศไทยมี ‘พันธบัตรป่าไม้’ เครื่องมือทางการเงินที่จะฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของไทย

รู้หรือไม่? ประเทศไทยมี ‘พันธบัตรป่าไม้’ เครื่องมือทางการเงินที่จะฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของไทย

ข่าวสาร
June 4, 2023 by cryptocamping
Frame 721 (99)

พันธบัตรป่าไม้ในไทย เป็นเครื่องมือเพื่อการฟื้นฟูป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเป็นกลไกทางการคลังที่ระดมทุนจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยมีผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลา และรัฐบาลจะนำเงินที่ระดมทุนได้จากการขายพันธบัตรไปใช้ในการว่าจ้างเกษตรกรให้ปลูกและดูแลป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐที่ต้องจัดสรรให้การปลูกป่าปีละหลายร้อยล้านบาท โดยหากพันธบัตรป่าไม้ได้รับการค้ำประกันจากกระทรวงการคลัง ก็จะจัดเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ แต่หนี้สาธารณะประเภทนี้จะแตกต่างจากหนี้สาธารณะอื่นๆ เนื่องจากมีรายได้ตอบแทนผู้ลงทุนในพันธบัตรจากมูลค่าของไม้และการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต

การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยมีปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน การปลูกป่าไม้เศรษฐกิจจึงทำได้ไม่ง่าย ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชุมชน ด้วยเหตุนี้ ‘พันธบัตรป่าไม้’ จึงต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เปลี่ยนแนวทางการเพาะปลูกจากการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจเป็นป่าไม้เศรษฐกิจ รวมถึงการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ซึ่งการที่ชาวบ้านมีรายได้ตามความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าในพื้นที่ของตัวเอง จึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านรักและหวงแหนพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ตนเอง และจะนำไปสู่ความภูมิใจในการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อสังคมในอนาคต นอกจากนี้จะต้องมีการดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเปลี่ยนสถานะชาวบ้านจากผู้บุกรุกผืนป่ามาเป็นผู้ปลูกและดูแลป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากเป็นการสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจแล้ว พันธบัตรป่าไม้ จะช่วยกระจายผลประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ โดยนักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนพันธบัตรป่าไม้ ผู้ประกอบธุรกิจได้กำไรจากการแปรรูปไม้เศรษฐกิจ ประชาชนในพื้นที่มีงานทำและมีรายได้มั่นคงจากการปลูกและดูแลป่าไม้เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือทำให้สังคมได้ป่าไม้คืนมา ระบบนิเวศดีขึ้น อีกทั้งการปลูกป่าสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ และช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำพาไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ใน พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน พ.ศ. 2608

Related posts