รู้จัก Class Action การรวมกลุ่มฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม กลไกสำคัญช่วยเหลือนักลงทุน
การดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือ Class Action ของประเทศไทยอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการเสนอร่างกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เพื่อนำมาใช้กับการดำเนินคดีแพ่งตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้กลไกบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน สามารถนำไปใช้ได้หลายเรื่อง จึงกำหนดให้คดีละเมิดคดีผิดสัญญา และคดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภคแรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้าอาจร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้
การดำเนินคดีแบบกลุ่มอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นเพียงการกำหนด “วิธี” พิจารณาคดี ไม่ใช่กฎหมายสารบัญญัติที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของบุคคล อย่างไรก็ตาม คดีที่ศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า คดีดังกล่าวจะฟ้องได้หรือไม่ ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายสารบัญญัติใด
ทั้งนี้ ผู้เสียหายทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มต้องถูกกระทบสิทธิภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันสามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง แต่ไม่สะดวกและมีความยุ่งยากกว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
โดยสิทธิของสมาชิกกลุ่มคือ มีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดี ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ ขอตรวจเอกสารสำนวนความได้ จัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความเดิมได้ ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ได้ รวมถึงสามารถคัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ การที่โจทก์ขอถอนฟ้อง การที่มีการยอมความกัน และการที่ให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด และสมาชิกกลุ่มสามารถตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ได้ สำหรับประโยชน์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเล็กน้อย จากการคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันผลที่แตกต่างของคำพิพากษาในคดีที่มีมูลเหตุอย่างเดียวกัน