เงินเฟ้อไทย เดือนพ.ค. 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน สาเหตุหลักราคาพลังงานลด

เงินเฟ้อไทย เดือนพ.ค. 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน สาเหตุหลักราคาพลังงานลด

ข่าวสาร
June 6, 2023 by cryptocamping
Frame 721 - 2023-06-06T175742.648

กระทรวงพาณิชย์เผย เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมสูงขึ้นเพียง 0.53% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวแค่ 1.55% ชะลอลงเช่นกัน เตรียมปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ลงจาก 2.2% หลังช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.53%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นอกจากนี้หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าเงินเฟ้อปรับตัวลดลง 0.71%MoM โดยสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก

ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกพบว่า ในเดือนที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น 1.55%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้น 1.66%YoY และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าเงินเฟ้อเป็นบวกเพียง 0.06%MoM

พูนพงษ์เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤษภาคม พบว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับสูงขึ้น 3.99%YoY ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้ (มะนาว ต้นหอม มะเขือ แตงโม เงาะ) ไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก ประกอบกับความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดภาคเรียน เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ / ชา (ร้อน / เย็น) น้ำอัดลม กาแฟผงสำเร็จรูป) และอาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง / ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาช่อน น้ำมันพืช มะขามเปียก มะพร้าว กล้วยน้ำว้า ทุเรียน และชมพู่

ขณะที่ราคาสินค้าและบริการหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม พบว่าปรับลดลง 1.83%YoY ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แป้งผัดหน้า หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน แท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก / สองแถว เรือ) ค่าการศึกษา สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (สารกำจัดแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ) และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย / สตรี ค่าทำเล็บ)

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องหรือมีโอกาสหดตัวได้ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 ค่อนข้างสูง ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพและการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวนได้บ้าง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

“ขณะนี้เราประเมินว่าภาพรวมเงินเฟ้อในไตรมาส 2 จะอยู่ที่ระดับ 1% นิดๆ ลดลงจากไตรมาสแรกที่ 3.88% อย่างมีนัย ขณะที่แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 และ 4 ก็คาดว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่าไตรมาส 2 ลงไปอีก ทำให้ในเดือนหน้าเราอาจปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ลงมาจาก 2.2% แต่ก็ยังต้องรอดูความชัดเจนในหลายๆ ด้านด้วยเช่นกัน เช่น การลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่าจะเป็นการทยอยปรับแบบขั้นบันได ซึ่งผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ากับปรับขึ้นในครั้งเดียว” พูนพงษ์กล่าว

 

Related posts