ธปท.เผย Retail CBDC ไม่จำเป็นต้องเร่ง ถือเป็น Pilot to Learn ไม่ใช่ Pilot to Launch
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาเรื่อง Central Bank Digital Currency หรือ CBDC ของ ธปท. มี 2 โครงการ ในโครงการแรกเป็นของธุรกรรมขนาดใหญ่ หรือ Wholesale CBDC ที่มีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากโครงการอินทนนท์ เป็นการเข้ามาช่วยเรื่องชำระเงินข้ามประเทศ ล่าสุดเป็นโครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ที่ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH)
โครงการ mBridge คือการช่วยเรื่องธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายสุดเป้าหมายคือจะต้องเชื่อมกับระบบในประเทศอื่นๆได้ด้วย เพราะปัจจุบันมีโครงการลักษณะนี้ที่ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ทำอยู่ราว 10 ประเทศในโลก ซึ่งในการพัฒนาจะต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้และมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ได้จริงในระยะเวลาอีกไม่นาน
ส่วนRetail CBDC ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นทดสอบแบบวงจำกัดมากๆ โดยจะแบ่งเป็นการทดสอบแบบพื้นฐาน (Foundation Track) ที่เป็นการทดสอบใช้งานทั่วไป และการทดสอบแบบนวัตกรรม(Innovation Track) ที่จะต้องพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆเพิ่มเข้าไป
“Retail CBDC ถือเป็น Pilot to Learn ไม่ใช่ Pilot to Launch ซึ่งความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งไม่ได้สูงมากขนาดนั้น เพราะประเทศไทยมีการใช้ระบบพร้อมเพย์อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ในการใช้งานขั้นพื้นฐาน Retail CBDC กับ พร้อมเพย์ไม่ได้แตกต่าง แต่สิ่งที่ธปท.สนใจคือเรื่อง Innovation Track ของ Retail CBDC ที่สามารถสั่งเงื่อนไขในการใช้งานได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ลำบาก แต่ก็ยังศึกษาอยู่และคงไม่ได้ออกมาใช้ในวงกว้างได้เร็ววัน เพราะต้องทำให้ทุกอย่างเสถียร”