ไทยอันดับ 52ของโลก! อันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก พ่วงเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เมืองสตาร์ทอัพระดับโกลบอล
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) โดย StartupBlink ระบุว่าประเทศไทยได้ลำดับที่ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก สูงกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ ถือเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 6) อินโดนีเซีย (อันดับ 41) มาเลเซีย (อันดับ 43) ตามมาด้วยเวียดนาม (อันดับ 58) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 59)
โดยมี “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพของประเทศ ที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดจากปี 2565 ขยับขึ้น 25 อันดับ เป็นอันดับที่ 74 ของโลก แซงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (อันดับ 87) และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน โดยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการขนส่ง (Transportation) ที่สามารถรักษาอันดับที่ 43 ของโลกไว้ได้อีกด้วย
อีก 3 จังหวัดที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน ได้แก่ เชียงใหม่ ที่อยู่ในอันดับ 591 ตามด้วยภูเก็ต อันดับ 640 และพัทยา อันดับที่ 849
หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านการปฏิรูป ผลักดันการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2559 การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นนโยบายเชิงกลยุทธ์สำคัญสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมี NIA เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของประเทศ ประเทศไทยไม่ได้ดึงดูดแค่เฉพาะนักท่องเที่ยว แต่ยังสามารถดึงดูดกลุ่มดิจิทัลนอร์แมด (Digital Normad) ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระดับนานาชาติ ส่งผลให้เกิดธุรกิจ และโครงการต่าง ๆ ตามมา
NIA จึงมุ่งมั่นพัฒนาให้ไทยเป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก ผ่านการจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อรองรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้สามารถดำเนินการด้านธุรกิจและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างเมืองน่าอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง เชื่อมโยงความเจริญสู่ชนบท ผ่านการพัฒนาย่านนวัตกรรม หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ