เปิดเบื้องลึกหักเก้าอี้เลขา ก.ล.ต. มติคณะกรรมการ 6:4 ไม่ต่ออายุงาน
และวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือและถกกันในบอร์ดอีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนนำไปสู่การนัดหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งในสัปดาห์นี้ โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือประเด็นข้อกฎหมายที่ว่ากรรมการ ก.ล.ต.ที่ร่วมโหวตลงมติ 10 เสียงนั้น มี 2 เสียง (โดย 1 ในนั้นคือ ประธานบอร์ด ก.ล.ต.) ที่อาจเข้าข่าย conflict of interrest หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ หากเห็นว่ามีความขัดแย้ง มติบอร์ดที่เกิดขึ้นวันที่ 1 ธ.ค. 65 นั้น จะถือว่าเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกประชุมเพื่อลงมติการต่อหรือไม่ต่อวาระให้ น.ส.รื่นวดีอีกครั้ง
หากพิจารณาการทำงานของ น.ส.รื่นวดีในตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.ตลอดเกือบ 4 ที่ผ่านมานั้น ถือว่าไม่มีข้อครหาในเรื่องความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต มีความแข็งขันและทุ่มเทในการทำงาน ในห้วงเวลาที่องค์กร ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนกำลังเผชิญกับความท้าทายของโลกในยุคดิจิทัลที่ระบบนิเวศในตลาดทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในด้านกฎหมายและเทคโนโลยี และ ก.ล.ต.ยังต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับโจร หรือเหลือบที่เข้ามาหาช่องว่างเพื่อหาผลประโยชน์ฉ้อฉลกลโกงในตลาดทุนจากกฎหมายกฎระเบียบที่อาจยังตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมโจร
ดังนั้น จึงทำให้การทำงานของหน่วยกำกับอย่าง ก.ล.ต.ในยุคนี้ จึงต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งการทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับและหน้าที่ในการพัฒนาตลาดทุนไทย จึงทำให้ต้องมีการขยับเขย่าองค์กรให้ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรอบคอบ โปร่งใสและเป็นธรรม ยึดหลักการความถูกต้องและข้อกฎหมาย
ก.ล.ต.ยุคใหม่ นอกจากต้องขับเคลื่อนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องปรับองค์กรให้มีอำนาจในการสอบสวนคดีเช่นเดียวกับอัยการ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงที่เท่าทันเล่ห์กลโกงในยุคดิจิทัลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ซึ่งจะเห็นว่า ยุคที่ “รื่นวดี” นั่งกุมบังเหียน ก.ล.ต.ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในการทำหน้าที่มากมาย ทั้งกรณีการเข้าดำเนินการกับกลุ่ม “บิทคับ” ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่สุดของไทยที่เกิดมาก่อนที่ ก.ล.ต.จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล และ ต้องออกกฎระเบียบล้อมคอกเพื่อปกป้องนักลงทุน จนนำไปสู่การสั่งปรับบิทคับหลายกรณี ซึ่งอาจไปขัดใจหรือขัดผลประโยชน์ผู้คน ไม่น้อย
นอกจากนี้ยังมีกรณีปัญหา “ซิปเม็กซ์” ที่ประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซี และเงินบาท จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาทเศษ และปัจจุบันยังจ่ายเงินคืนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
และกรณีล่าสุด คือ ปฏิบัติการปล้นโบรกเกอร์กลางแดด จากคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE ที่เข้าข่ายคดีฉ้อโกง จนนำไปสู่การใช้อำนาจ ปปง.อายัดค่าซื้อขายหุ้นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 18 ก.พ.นี้ และ ก.ล.ต.เตรียมรับช่วงต่อในคดีปั่นหุ้น ซึ่งเป็นความหวังที่จะใช้เป็นเหตุขยายเวลาอายัดเงินต่อไปได้
และผลพวงจากคดีหุ้น MORE นี้ บานปลายนำไปสู่การเสนอ รมว.คลัง ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ บล.เอเชีย เวลท์ จากจุดเริ่มต้นที่พบว่าเอเชียเวลท์นำเงินบัญชีลูกค้าไปจ่ายค่าซื้อหุ้น MORE และนำไปสู่การไม่สามารถดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ตามกำหนด และเมื่อมีการตรวจสอบลึกเข้าไปถึงเส้นทางการเงินในอดีตพบการโอนเงินในกลุ่มครอบครัวของผู้บริหาร และครอบครัวของผู้ถือหุ้น ซึ่ง ก.ล.ต.ได้แจ้งความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และนำไปสู่การเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตของ บล.เอเชีย เวลท์ ซึ่งประเด็น บล.เอเชีย เวลท์นี้ ถูกโยงเข้าไปพัวพันกับนายพิชิต ซึ่งเป็นอดีตประธานบอร์ด บล.เอเชียเวลท์ และมีบุคคลใกล้ชิดถือหุ้นใน บล.เอเชียเวลท์ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย
จะเห็นว่า การลงดาบลงโทษ ของ ก.ล.ต.ในแต่ละเรื่องนั้น ล้วนมีผู้เสียผลประโยชน์มหาศาล และย่อมสร้างศัตรูต่อคนทำงานอย่าง “รื่นวดี” แม้หลายกรณีเป็นการใช้อำนาจของคณะทำงาน ไม่สามารถใช้อำนาจของเลขาธิการ ก.ล.ต.เพียงคนเดียวได้ แต่ “รื่นวดี” มักตกเป็นเป้าโจมตี จากผู้ที่เสียผลประโยชน์มาตลอด จึงไม่แปลกใจที่จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายขัดขวางไม่ให้อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อ!!
ซึ่งการรักษาตัวยืนหยัดทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้มาได้จนเกือบครบ 4 ปี เพราะเธอยึดหลักการความถูกต้อง และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเกราะป้องกันตัวนั่นเอง!!
ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/investment/stockexchange/2616251